ความรู้สุขภาพ

ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ช่วยเดินชนิดต่าง ๆ

อุปกรณ์ช่วยเดิน

ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ช่วยเดินชนิดต่าง ๆ

อุปกรณ์ช่วยเดิน เป็นอุปกรณ์ที่นำมาใช้สำหรับผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยที่มีความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา และมีความบกพร่องในการเดิน การทรงตัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองได้

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนมากใช้อุปกรณ์ช่วยเดินอย่างไม่วิธี  อุปกรณ์ช่วยเดินแต่ละประเภทมีลักษณะข้อบ่งใช้ที่แตกต่างกันออกไป

อุปกรณ์ช่วยเดินที่เหมาะสม ทำให้ช่วยส่งเสริมความสามารถในการเดินของผู้ป่วยและลดผลกระทบในแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานได้

ประเภทของอุปกรณ์ช่วยเดิน (Types of assistive walking devices)

ปัจจุบันอุปกรณ์ช่วยเดินถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการ ของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติแตกต่างกันไป โดยประเภทที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ โครงเหล็กช่วยเดิน (walker frame) ไม้ค้ำยัน (crutches) และไม้เท้า (cane) ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะและระดับการช่วยเหลือ และวิธีการใช้งานที่แตกต่างกัน

1. โครงเหล็กช่วยเดิน (Walker frame)

เหมาะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีกำลังแขนทั้ง 2 ข้าง ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเดิน ลักษณะของอุปกรณ์ เป็นโครงเหล็กผลิตจากอลูมิเนียมมีลักษณะเป็นท่อกลวง น้ำหนักเบา
ที่จับและขาทั้ง 4 ขาหุ้มด้วยยางเพื่อป้องกันการลื่น การใช้อุปกรณ์ช่วยเดินประเภทนี้มีข้อจำกัดในการใช้งานในบางสถานที่ เช่นการเดินในที่แคบ การเดินขึ้นลงบันได ทำได้ยากและลำบาก

โครงเหล็กช่วยเดินนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ

1.1 โครงเหล็กช่วยเดินแบบมาตรฐาน (standard walker)

เป็นที่นิยมใช้โดยทั่วไป สามารถปรับเปลี่ยนความสูงให้เหมาะสมกับผู้ใช้ได้ โดยความสูงของโครงเหล็กช่วยเดิน พิจารณาจากขณะยืนจับโครงเหล็ก ระดับความสูงที่เหมาะสม
ควรจะสูงอยู่ในระดับเดียวกันกับข้อมือหรือกระดูก greater trochanter ของผู้ใช้ หรือประเมินความสูงที่เหมาะสม โดยขณะที่ผู้ใช้จับอุปกรณ์ช่วยเดินในท่ายืนหลังตรง ข้อศอกของผู้ใช้จะต้องอยู่ในท่างอประมาณ 15-30 องศา

1.2 โครงเหล็กช่วยเดินแบบมีล้อ (wheeled walker or roller walker)

เป็นโครงเหล็กช่วยเดินที่มีความมั่นคงที่น้อยกว่าแบบมาตรฐาน แต่รูปแบบของการเดินจะใกล้เคียงกับการเดินปกติมากขึ้น โดยผู้ใช้สามารถเดินได้เร็วขึ้น เพียงผลักหรือดันโครงเหล็กไปด้านหน้าแทนการยก โครงเหล็กช่วยเดินแบบมีล้อจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาค่อนข้างดี แต่อาจยังมีความบกพร่องในด้านการทรงตัวและการเดิน ทำให้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เพื่อชดเชยการลงน้ำหนักของขาทั้งสองข้าง เช่น ผู้ป่วยพาร์กินสันที่มีปัญหาเดินลากเท้าหรือมีการสะดุดบ่อยในขณะเดินซึ่งเกิดจากภาวะแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อขา ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เป็นต้น

วิธีเก็บรักษา : ไม่ควรนำไปเก็บในที่ชื้นแชะ เพราะจะทำให้อุปกรณ์เกิดสนิมได้ง่ายและก่อนใช้งานควรเช็คก่อนเสมอว่ามีชิ้นส่วนใดเสียหายหรือไม่

2. ไม้ค้ำยัน (Crutches)

เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่ช่วยเพิ่มความมั่นคงขณะยืนและเดิน โดยไม้ค้ำยันสามารถรองรับน้ำหนักตัวได้มากถึงร้อยละ 80 ของน้ำหนักตัวขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาทำอุปกรณ์ด้วย อุปกรณ์ประเภทนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อไหล่และแขนทั้ง 2 ข้างอย่างเพียงพอ เช่น ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของกระดูกขา กระดูกหัก กระดูกร้าว อุปกรณ์ประเภทนี้ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการล้ม อุปกรณ์จะใช้เป็นคู่ มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมบริเวณขาของไม้ค้ำยันจะมียางรองสำหรับกันการลื่น โดยส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

2.1 ไม้ค้ำยันรักแร้ (axillary crutches)

เป็นไม้ค้ำยันมาตรฐานที่ใช้โดยทั่วไป ทำจากไม้หรืออลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา ข้อดีคือมีราคาถูก สามารถปรับความสูงให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคนได้ สามารถใช้ในการเดินขึ้นลงบันไดได้
การเลือกซื้อ : ความสูงของไม้ค้ำยันที่เหมาะสมพิจารณาจากท่ายืน วางไม้ค้ำยันให้ปลายไม้อยู่หน้าต่อเท้าเฉียงไปทางด้านข้าง 45˚ ห่างจากปลายนิ้วก้อยเท้าประมาณ 6 เซนติเมตร ความสูงขอบบนของไม้ค้ำยันควรอยู่ในระดับต่ำกว่ารักแร้ ประมาณ 4-5 เซนติเมตร หรือประมาณ 2 นิ้วมือ และเมื่อใช้มือจับด้ามจับข้อศอกควรอยู่ในท่างอประมาณ 15-30 องศา

วิธีเก็บรักษา : สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ตามปกติ ควรเก็บไว้ในที่แห้งป้องกันการเป็นเชื้อราและเกิดสนิม และก่อนใช้งานควรตรวจอุปกรณ์ให้ดีก่อนว่ามีวัสดุชิ้นในชำรุดหรือไม่เพราะความปลอดภัยในการใช้งาน

2.2 ไม้ค้ำยันแขนท่อนล่าง (forearm crutches)

เป็นไม้ค้ำยันที่สามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ง่าย สะดวกและคล่องตัวกว่าไม้ค้ำยันรักแรรวมถึงช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้มือเพื่อเอื้อมมือไปหยิบจับสิ่งของได้โดยไม่ต้องปล่อยไม้ค้ำยัน แต่ไม้ค้ำยันประเภทนี้มีความมั่นคงน้อยกว่าไม้ค้ำยันรักแร้

การเลือกซื้อ : ส่วนปลาย (ขา) ของไม้ค้ำยันอยู่ตรงกับตำแหน่งที่ห่างจากเท้าเหมือนกับไม้ค้ำยันรักแร้ ตำแหน่งที่เหมาะสมของที่จับคือตำแหน่งที่ข้อศอกงอประมาณ 15-30 องศา ส่วนของ forearm cuff ควรอยู่ใต้ต่อข้อศอกประมาณ 2.5-4 เซนตริเมตร

วิธีเก็บรักษา : สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ตามปกติ ควรเก็บไว้ในที่แห้งป้องกันการเป็นเชื้อราและเกิดสนิม และก่อนใช้งานควรตรวจอุปกรณ์ให้ดีก่อนว่ามีวัสดุชิ้นในชำรุดหรือไม่เพราะความปลอดภัยในการใช้งาน

3. ไม้เท้า (Canes)

ไม้เท้าถือเป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีผู้ใช้มาก ที่สุด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีการอ่อนแรงเพียงข้างเดียว ไม้เท้าสามารถช่วยรับแรงน้ำหนักตัวบางส่วนแทนขาข้างที่อ่อนแรง หรือมีอาการปวด ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเคลื่อนไหว จะมีหลากหลายประเภท เช่น เป็นไม้ขาเดียว เป็นไม้ 3 ขา หรือเป็นไม้ 4 ขา

3.1 ไม้เท้าแบบมาตรฐาน (standard cane)

ลักษณะอุปกรณ์ : วัสดุอาจทำมาจากไม้หรืออะลูมิเนียม แต่ไม่สามารถที่จะปรับระดับได้ เป็นแท่งยาวโดยส่วนปลายจะมียางหุ้มเพื่อกันการลื่น

การเลือกซื้อ : ระดับความสูงที่เหมาะสม ด้ามจับควรจะสูงอยู่ในระดับเดียวกันกับข้อมือหรือกระดูก greater trochanter (ขอบล่างของสะโพก) ของผู้ใช้ หรือประเมินความสูงของไม้ เท้าในท่าผู้ใช้ยืนหลังตรง ขณะจับไม้เท้า ข้อศอกควรอยู่ใน
ท่างอประมาณ 15-30 องศา

วิธีเก็บรักษา : สามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ตามปกติ ควรเก็บไว้ในที่แห้งป้องกันการเป็นเชื้อราและเกิดสนิม และก่อนใช้งานควรตรวจอุปกรณ์ให้ดีก่อนว่ามีวัสดุชิ้นในชำรุดหรือไม่เพราะความปลอดภัยในการใช้งาน

3.2 ไม้เท้าปรับระดับ (offset cane)

เป็นไม้เท้าที่ช่วย กระจายน้ำหนักได้มากกว่าไม้เท้าแบบมาตรฐาน เนื่องจากมี จุดรับน้ำหนักอยู่ตรงกับตำแหน่งของมือที่จับไม้เท้า และเหมาะสมกับผู้ที่มีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาเป็นอย่างดี

ลักษณะอุปกรณ์ การเลือกซื้อ และการเก็บรักษา : ปฏิบัติในลักษณะเดียวกับการใช้ ไม้เท้าแบบมาตรฐาน (standard cane)

ไม้เท้า 4 ขา (quad cane) และไม้เท้า 3 ขา (tripod cane)

ประโยชน์ : ไม้เท้าแบบที่มีฐานรับน้ำหนักกว้างขึ้น และ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลงน้ำหนักที่แขนได้มากขึ้น และมีความมั่นคงกว่าแบบที่มีขาเดียว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีกำลังแขนขาข้างเดียว เช่น ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก

ลักษณะอุปกรณ์ การเลือกซื้อ และการเก็บรักษา : ปฏิบัติในลักษณะเดียวกับการใช้ ไม้เท้าแบบมาตรฐาน (standard cane) อุปกรณ์ช่วยเดินแต่ละประเภทมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ใช้งานได้ถูกวิธี
ปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบที่จะเกิดจากการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินที่ไม่ถูกต้องได้

สนใจดูสินค้าอุปกรณ์ช่วยเดิน คลิก

ปรึกษาหรือสอบถามเพิ่มเติม ติดต่อเรา
ID : @Bcosmo1
Tel : 02 416 6322

ต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติมเรามีจำหน่าย อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ผู้ป่วย,ผู้สูงอายุ สินค้าราคาพิเศษ!